วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความงามหญิงพิการ แรงบันดาลใจ-คุณค่า

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7147 ข่าวสดรายวัน
ความงามหญิงพิการ แรงบันดาลใจ-คุณค่า




องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้โครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงพิการ จัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "หญิงพิการ : แรงบันดาลใจ ความงามและคุณค่า" โดย อภิลักษณ์ พวงแก้ว ช่างภาพอิสระ เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว บทบาทและความสามารถของหญิงพิการ 25 คน โดยมี นายโดนัลด์ เฮนรี คลาร์ก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเท่าเทียมทางและพลังสตรีของคณะกรรมการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป แห่งสหประชาชาติ เป็นประธานเปิดงาน ที่บริเวณโถงชั้นแอล หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้สนใจเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 มิ.ย.นี้



ชี้สาวพิการ-กลุ่มเสี่ยง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

จำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีหญิงพิการจำนวนมากที่ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าความพิการไม่ได้ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป หลายคนได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถในการเป็นภรรยา และความสามารถในการเป็นแม่ แต่ในขณะเดียว กันคนส่วนใหญ่ยังกลับยึดติดกับความรู้สึกและความเชื่อที่ว่าคนพิการยังขาด ความพร้อมและขาดศักยภาพในการดำเนินชีวิตเยี่ยงคนทั่วไป

โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ หญิงพิการยังคงถูกมองว่าไร้ความสามารถทางเพศ ไร้ความสามารถในการมีและเลี้ยงดูบุตร และแทบจะไร้ความเกี่ยวพันกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง



การที่สังคมยังคงมีอคติต่อผู้หญิงพิการ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงาม ไม่มีคุณค่า ประกอบกับทัศนคติของสังคมที่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ส่งผลให้หญิงพิการจำนวนมากไม่เคยได้ตระหนักถึงสิทธิทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง และต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ

งานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าหญิงพิการเป็นกลุ่มที่ เสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 1.0-1.5 เท่า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อความพิการและสิทธิทางเพศของคนเหล่า นี้จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้หญิงพิการเหล่านี้มีความมั่นใจ และมีความสามารถในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับผู้หญิงโดยทั่วไป และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาการ ล่วงละเมิดทางเพศต่อหญิงพิการอีกด้วย

สิทธิหญิงพิการ"เป็นแม่" ต้องมีระบบส่งเสริมข้อมูล

การเสวนา "เรื่องเพศของหญิงพิการ เรื่องต้อง (ไม่) ห้าม" เชิญ ดร.เพ็ญจันทร์ ประดับมุข-เชอร์เรอร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นิวัติ กองเพียร นักวิจารณ์งานศิลปะภาพถ่าย เสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมให้วามเห็น

ดร.เพ็ญจันทร์ กล่าวว่า เรื่องเพศไม่ได้เป็นเรื่องอวัยวะและการปฏิบัติการทางเพศ แต่มีคุณค่าอะไรบางอย่างที่มีความหมายมากกว่านั้น มีคุณค่าของสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วย โดยเฉพาะในหญิงที่พิการจะมีความซับซ้อนกว่าผู้หญิงทั่วไป แม้ต้องการความรักเหมือนคนทั่วไป กลับไม่มีข้อมูลให้กับคนพิการ ไม่มีการสนับสนุนพ่อแม่ที่มีลูกพิการว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร



"ร่างกายของคนพิการมีความแตกต่าง เขาอาจจะต้องการความเข้าใจเฉพาะ ขนาดเริ่มมีประจำเดือน ก็ไม่มีการให้ข้อมูลในการดูแล โดยบางบ้านอาจจะปิดกั้นไม่ให้ลูกไปโรงเรียน การอยู่ในบ้านก็ถูกจำกัดด้วยสื่อต่างๆ โดยมีโอกาสในการมีคู่ของคนพิการ โดยภาพสังคมมองคนพิการเหมือนเด็ก ไม่มีความสามารถที่จะเป็นแม่คนได้ เหมือนถูกห้าม แต่สิ่งที่เห็นในภาพถ่ายจะเห็นถึงศักยภาพ ซึ่งการเป็นแม่คนได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกาย อาจจะมีวิธีที่ต่าง ทั้งนี้ จะต้องมีการแนะนำ อย่างกรณีของคนพิการที่ต้องการเป็นแม่ จะต้องกินยาเพื่อสุขภาพพร้อมที่จะมีลูก บางทียาอาจไปกระทบต่อการมีลูก ฉะนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ถ้าคนพิการตัดสินใจว่าจะเป็นแม่คน จะต้องมีระบบที่จะต้องช่วยเขา"

ดร.เพ็ญจันทร์ กล่าวด้วยว่า บางคนอาจจะคิดว่าคนพิการเป็นคนกลุ่มน้อย ความเป็นจริงไม่น้อย มีมากกว่า 1 ล้านคน ถ้าเราเติมศักยภาพให้เขาเต็มที่ เขาจะมีส่วนสำคัญในการสร้างครอบครัวและศักย ภาพให้กับสังคม ทั้งนี้ เรื่องของสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ตัวของคนพิการเองต้องเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานว่าจะต้องได้เหมือนคนอื่นๆ ความเฉพาะเจาะจงของคนพิการอาจจะต้องการข้อมูลที่มีความจำเพาะ

จี้รัฐดึงคนพิการผู้เชี่ยวชาญร่วมแก้ไขปรับปรุงปัญหา

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กล่าวว่า คนพิการส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิ ซึ่งเกิดจากปัญหาหลายอย่างทั้งด้านกายภาพและทัศนคติ เรื่องเพศของหญิงในประเทศไทย หรือในเอเชีย เป็นเรื่องต้องห้ามอยู่แล้ว พอมาเป็นคนพิการ ความเป็นเพศก็สลายไปทันทีกับความพิการ โดยครอบครัวที่มีลูกพิการไม่เคยคิดว่าแต่ละช่วงอายุมีการเปลี่ยนแปลงสรีระ อย่างไร เพราะทัศนคติและสุขภาวะทางเพศมันหลุด

"เราไม่เคยเห็นเด็กพิการมีความสุขกับการออกไปเล่นในสนามเด็กเล่น ได้เข้าเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วไป พอไม่มีสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็กพิการ จึงไม่ต้องคิดเลยว่าถ้าโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าหญิงหรือชาย จะมีพฤติกรรมทางเพศแบบไหน ซึ่งการแสดงออกจะผิดแปลกจากคนทั่วไปเพราะไม่มีความรู้ หากใครจะมาลวนลามก็ไม่รู้วิธีป้องกัน ซื่อบริสุทธิ์กับเรื่องแบบนี้มากเพราะไม่มีความรู้และข้อมูล แค่ในจุดของครอบครัว ที่มีข่าวพี่ชายข่มขืนน้องสาวพิการ เพราะเขาไม่ได้มองแค่ว่าผู้หญิงพิการไม่มีทางต่อสู้ แต่มองว่าง่าย โดยไม่มีจิตสำนึกว่าคนที่กระทำอยู่นั้นเป็นผู้หญิงเพศเดียวกับแม่"

ภาครัฐต้องทำงานกันคนพิการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเภท เพราะคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของตนเองก็คือคนที่อยู่กับปัญหานั้นๆ เช่น เรื่องการเดินทาง การซื้อของ การเลี้ยงลูก ต้องมองให้เป็นเหมือนระบบธุรกิจ ที่จะต้องเข้าถึงตัวคนได้มากที่สุด ต้องมีความหลากหลาย การให้ความรู้คือบริการชนิดหนึ่ง
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROc1lXUXdNakkwTURZMU13PT0=&sectionid=TURNeE5BPT0=&day=TWpBeE1DMHdOaTB5TkE9PQ==